คมนาคม เตรียมใช้ “ระบบตั๋วร่วม” เชื่อมรถไฟฟ้า BTS-MRT-สีม่วง

การพัฒนา “ระบบตั๋วร่วม” ของประเทศไทย ที่รัฐบาลปรารถนาให้ประชาชนพกบัตรใบเดียวใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกรูปแบบ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน มอเตอร์เวย์

 

 

ต.ค.คิกออฟตั๋วข้ามระบบ 3 สาย

นำร่องสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียว รองรับการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม 2 แสนใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT 2 ล้านใบ และบัตรแรบบิท 12 ล้านใบ

ล่าสุด “คมนาคม” โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ระยะเวลา 1 ปี กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นที่เรียบร้อยแล้ววันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนระยะยาว ใช้เวลาดำเนินการ 18-24 เดือน หรือภายในปี 2565 โดย “รฟม.” จะดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ account based ticketing (ABT) เป็นระบบเปิด เป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชีบัตร ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน ร้านสะดวกซื้อ ด้วยบัตรใบเดียว

 

เร่งเจรจาค่าธรรมเนียมใช้บัตร

“พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” รองปลัด กระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการติดตามความก้าวหน้าระบบตั๋วร่วมระยะเร่งด่วน พัฒนาเป็นการใช้ข้ามระบบในสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียว จะเลื่อนจากเดิมในเดือน มิ.ย.เป็นในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาระบบของ BTS และ BEM ที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และอาจจะใช้เวลาดำเนินการถึงปลายปีนี้ แต่กำชับให้เสร็จตามแผนที่ปรับใหม่

“ยังมีเรื่องข้อตกลงเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรข้ามระบบที่ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน โดย รฟม.เสนอให้เก็บในอัตรา 0.3% สำหรับผู้ออกบัตร โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการชำระบัญชี”

ด้าน “เผด็จ ประดิษฐเพชร” ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. กล่าวว่า การใช้บัตรโดยสารข้ามระบบเดือน ก.ค.นี้ ใช้ได้แค่สายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียวของบีทีเอส ยังไม่รวมแอร์พอร์ตลิงก์ เนื่องจากติดปัญหาผู้พัฒนาระบบ ทราบว่าจะเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ และรองรับได้แค่บัตรแมงมุม 2.5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หากจะรับระบบอื่นเพิ่มต้องลงทุนเพิ่มอีก 40 ล้านบาท

“บัตรโดยสารแตะเข้าข้ามระบบ เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งผู้ใช้บริการยังจ่ายค่าแรกเข้าและค่าโดยสารตามเดิม ก่อนจะพัฒนาเป็นค่าโดยสารร่วม โดยจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวในอนาคต”

นายเผด็จกล่าวอีกว่า สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรแมงมุม 2.5) ซึ่งกรมบัญชีกลางออกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีกว่า 1.35 ล้านใบ สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT BTS แอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ จะหมดอายุในเดือน ต.ค. 2565 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน (บัตรแมงมุม 4.0) เป็นระบบเปิด EMV ผ่านบัตรเครดิต ระบบเดียวกับที่ รฟม.กำลังพัฒนา

“กรมการขนส่งทางบกขอให้เพิ่มสิทธิใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับรถโดยสารเอกชน 14 เส้นทางที่ บขส.ไม่ได้วิ่งบริการ ส่วน ขสมก.ขอให้ใช้กับรถร่วมเอกชนได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางให้รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมพิจารณาต่อไป”

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 9 มิถุนายน 2563

ความคิดเห็น