กทม.มีแผนสร้าง3สะพานใหม่ข้ามเจ้าพระยา แก้ปัญหาจราจร
กทม.มีแผนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง บริเวณ ถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒารามและโครงการก่อสร้างสะพานบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ขนาด 6 ช่องจราจร โดยทั้ง 3โครงการใหม่ จะดำเนินการต่อจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายซึ่งอยู่ในกลุ่มแผนงานเดียวกัน
“สะพานทั้ง 3 แห่ง จะเป็น 1ใน4 ของแผนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสะพานแรกต้องเร่งก่อสร้างคือสะพานบริเวณถนนเกียกกาย ซึ่งบ้านเราถือว่ามีสะพานน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่มีนับร้อยสะพาน เพราะอะไรที่เป็นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คู คลอง ที่ดินริมแม่น้ำ จะถือเป็นเขตหวงห้าม ไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ และภาครัฐสามารถเข้าทำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ ”
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง มีจุดเริ่มต้นโครงการบนถนนราชวงศ์ บริเวณบรรจบกับถนนทรงวาดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงตามแนวถนนท่าดินแดง โดยมีขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 450 เมตร มูลค่า 1,000-2,000 ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน 100 ล้านบาท สะพานแห่งนี้ช่วยแบ่งเบาภาระจราจรท้องถิ่นบริเวณพื้นที่ส่วนกลางจากสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้าและจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ลดความแออัดคับคั่งและช่วยประหยัดพลังงานและเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร ขนาด 4-6 ช่องจราจร มูลค่า 3,260 ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน 1,500 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณถนนเจริญกรุงบริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามแนวถนน เจริญนครจนไปบรรจบถนนราษฎร์บูรณะ และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณลาดหญ้า-มหาพฤฒารามมีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนมหาพฤฒารามไปตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามแนวถนนลาดหญ้าจนบรรจบทางแยกคลองสาน มีขนาด 6ช่องจราจรระยะทาง 210 เมตร มูลค่า 2,400ล้านบาท ค่าชดเชยเพื่อการเวนคืน กว่า 800ล้านบาท
” สะพานแห่งนี้จะช่วยเชื่อมโครงข่ายถนนระหว่าง2ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยบรรเทาความคับคั่งของปริมาณจราจรบนถนนพระราม4และเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟโดยจะเชื่อมต่อบริเวณสถานีหัวลำโพงกับศูนย์คมนาคมขนส่งตากสินและรถไฟสายแม่กลองในอนาคตซึ่งช่วยร่นระยะทางลงสู่ภาคใต้ได้ ”