เปิดแผน ทางด่วน-รถไฟฟ้าสีน้ำตาล”แคราย-ลำสาลี” ราคาที่ดินเกษตร-นวมินทร์สูงลิ่ว !!!

แนวทางด่วนเกษตร-นวมินทร์ และโมโนเรลสายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” ราคาที่ดินสูงลิ่ว ค่าเวนคืน 10,000 ล้าน รวมมูลค่าทั้งโครงการ 50,000 ล้านบาท วางตอม่อทางด่วนส่วนต่อขยายใหม่ 7 กม.เชื่อมโทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก แนวเดิมอีก 12 ก.ม. ระยะทางด่วนรวม 19 ก.ม. แนวรถไฟฟ้าเบื้องต้น 20 สถานี เริ่มต้นศูนย์ราชการนนทบุรี สิ้นสุดแยกลำสาลี ระยะทางรวม 22 ก.ม.


 

ผลศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) หลังทบทวนผลศึกษาเดิม คาดว่าจะใช้เงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาท เป็นงานโยธาและระบบ 40,000 ล้านบาท ที่เหลือกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดิน โดยเวนคืนทางขึ้นลงประมาณ 20 สถานี และพื้นที่มากสุดคือศูนย์ซ่อมบำรุง(เดโป้) 44.3 ไร่ บริเวณจุดตัดทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินเกษตร-นวมินทร์ มีการปรับตัวขึ้นสูง

 

จุดที่ตั้งรถไฟฟ้า 20 สถานี ยาว 22 ก.ม.

จุดที่ตั้ง 20 สถานี ระยะห่างกันประมาณ 1 กม. ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี 2.สถานีจุฬาเกษม 3.สถานีคลองลาดยาว(คลองประปา) 4.สถานีชินเขต 5.สถานีบางเขน 6.สถานี ม.เกษตรฯ ประตู 2 7.สถานี ม.เกษตรฯ 8.สถานีคลองบางบัว 9.สถานีลาดปลาเค้า 10.สถานีเสนานิคม 11.สถานีโรงเรียนสตรีวิทยา 2 12.สถานีต่างระดับฉลองรัช 13.สถานีคลองลำเจียก 14.สถานีนวลจันทร์ 15.สถานีแยกนวมินทร์ 16.สถานีโพธิ์แก้ว 17.สถานีอินทรารักษ์ 18.สถานีนวมินทร์ภิรมย์ 19.สถานีสนามกีฬาคลองจั่น 20.สถานีแยกลำสาลี

แนวทางด่วนเกษตร-นวมินทร์ และโมโนเรลสายสีน้ำตาล (ตำแหน่งสถานีคร่าวๆ)

 

รูปแบบเป็นระบบ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) แนวเส้นทางอยู่บริเวณแยกแคราย มุ่งหน้าไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกแคราย แยกเกษตรฯ ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง แยกลำสาลี ระยะทางรวม 22 กม.

 

รูปแบบโครงสร้าง เส้นทางด่วน

ออกแบบเป็นทางยกระดับ ความสูง 10-12 เมตร หรือเท่ากับตึก 3 ชั้น โดยจะสร้างตอม่อใหม่เป็นโครงสร้างแบบทางคู่ 2 ทิศทาง โครงสร้างเสาเดี่ยว มีชานชาลาด้านข้าง พร้อมชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร โครงสร้างเสาส่วนใหญ่วางในแนวเกาะกลางถนน ส่วนในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อเดิม จะสร้างไปในแนวเดียวกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก โดยรถไฟฟ้าจะอยู่ใต้ทางด่วนที่สูงจากระดับพื้นดิน 21-22 เมตร หรือเท่ากับตึก 7 ชั้น

เริ่มจากแยกเกษตรฯไปตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนาฯ แยกสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดฉลองรัช แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกตะวันออก ระยะทาง 12 กม.

ขณะที่ส่วนต่อขยาย N1 เลียบตามแนวถนนผลาสินธุ์ ขนานกับคลองบางบัว คลองบางเขน ถนนวิภาวดีเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต และไปเชื่อมต่อกับโทลล์เวย์ กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่ทางต่างระดับรัชวิภา เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เป็นโครงสร้างเสาเดี่ยว ระยะทาง 7 กม.

รวมทั้งโครงข่าย จะมีระยะทางรวม 19 กม. ใช้เงินก่อสร้าง 25,000 ล้านบาท มีจุดเวนคืนจุดใหญ่ช่วงต่างระดับฉลองรัช และชุมชนบางบัวที่อยู่ริมคลอง

 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.ค.จะนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบโครงการก่อสร้างทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาจราจรโซนตะวันออกและตะวันตก พร้อมกับนำรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 1 รวมเป็นสายที่ 11 ระยะทางรวม 480 กม. โดยมอบให้ รฟม. เป็นผู้ศึกษารายละเอียดพร้อมกับจัดหาเอกชนมาลงทุนรูปแบบ PPP เหมือนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จปี 2567 ส่วนทางด่วนหาก กทพ. พร้อม ก็สามารถเดินหน้าได้ในช่วงเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ส่วนต่อขยายใหม่ทาง สนข.จะผู้รับผิดชอบทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

 

ข้อมูลจาก: prachachat

ความคิดเห็น