เหตุแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัว พลัสฯแนะวิธีการเตรียมตัวให้พร้อม!! โดย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

ปัจจุบันการใช้ชีวิตมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป จากอาคารแนวราบมาเป็นอาคารแนวสูงและมีขนาดใหญ่ ซึ่งอาคารสูงจะมีความสลับซับซ้อนของพื้นที่และงานระบบวิศวกรรมที่มากกว่า ดังนั้นหากเราเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องอาศัยหรือใช้ชีวิตในอาคารสูง ก็ควรต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เราเองมีความปลอดภัยในการใช้อาคารนั้นๆ  อย่างเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลา 08.37 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลาง อยู่บริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 6.4 ริกเตอร์ ความลึก 9 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 500 กิโลเมตร  กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวฯ ระบุว่า ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนบริเวณ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.น่าน จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร  โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาเกิดได้ นอกจากจะมีเตือนภัยจาก Line Alert บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงแล้ว ควรต้องรู้วิธีเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับการรับมือการเกิดแผ่นดินไหว

พลัส  พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้นำธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท  วันนี้มีข้อแนะนำเบื้องต้น ทั้งในมุมของผู้ใช้อาคารที่ต้องดูแลตนเองเมื่อเกิดแผ่นดินไหว  รวมถึงในมุมของผู้ดูแลอาคารที่ทำการตรวจสอบสภาพอาคารสูงทั้งคอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน เพื่อเตรียมความพร้อมอาคารให้ปลอดภัยทั้งโครงสร้าง และงานระบบวิศวกรรมอาคาร

ผู้ใช้อาคารต้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งผู้ใช้อาคารควรมีการจัดเก็บของให้เป็นระเบียบ  รวมถึงการสำรวจเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในห้องให้มีการยึดติดกับผนังหรือพื้นอาคารให้แน่นหนา ไม่วางสิ่งของที่น้ำหนักมากบนที่สูง เช่น ตู้ โต๊ะ เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นทับ ในการปฏิบัติตัวขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ควรยึดหลัก ‘หมอบ ป้อง เกาะ’ ในการป้องกันตนเองจากแรงสั่นสะเทือน และรอจนกว่าจะมีผู้เข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่ติดอยู่ในอาคารสูงและหนีไม่ทัน ที่สำคัญห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะอาจติดค้างจนเสียชีวิต  เมื่อแผ่นดินไหวสงบ ค่อยออกจากอาคาร แนะนำวิธีการป้องกันเมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ภายในที่พักอาศัย  หมอบลงกับพื้น ป้องกันสิ่งของตกใส่โดยการหลบใต้โต๊ะที่มีโครงสร้างแข็งแรงหรือที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ พร้อมเกาะไว้ให้แน่น ถ้าหากอยู่ไกลจากโต๊ะก็ให้หมอบลงกับพื้นและใช้แขนทั้งสองข้างป้องกันศีรษะและลำคอ โดยให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง หน้าต่าง และห้ามออกภายนอกที่พักอาศัยโดยเด็ดขาด ภายนอกที่พักอาศัย  ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวน ซึ่งที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง ขณะขับรถ ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด ถ้าเกิดเสาไฟล้มทับให้รออยู่ภายในรถจนกว่าจะมีผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือ อยู่ใกล้แนวชายฝั่ง  ใช้หลักการ หมอบ ป้อง เกาะ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุด ถ้าการสั่นสะเทือนนานถึง 20 วินาที หรือมากกว่า ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงเพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง หรือห่างจากชายฝั่งเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร หรือที่ที่สูงจากน้ำทะเลอย่างน้อย 30 เมตร  และหลังเหตุแผ่นดินไหวสงบ ผู้ใช้อาคารไม่อยู่ใกล้พื้นที่อาคารชำรุดหรือผนังชำรุด  ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ผู้ดูแลอาคารควรมีการวางแผน และเตรียมอาคารให้พร้อมเพื่อรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงหรือบ้านเรือน ควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ  พลัสฯ ด้วยประสบการณ์ในการดูแลอาคารขนาดใหญ่ มามากกว่า 27 ปี จึงมีข้อแนะนำให้มีการตรวจสอบอาคารอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำปีทุกปี  และมีการตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารทำการตรวจสภาพอาคารตามระยะเวลาที่กำหนด   โดยเฉพาะอาคารเก่าทีก่อสร้างก่อนปี 2550  จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากเป็นการก่อสร้างก่อนที่จะบังคับให้อาคารต้องออกแบบต้านแผ่นดินไหว  พลัสฯ มีทีมวิศวกรที่ผ่านการรับรองทำการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารและการทำงานของทุกระบบในอาคาร ทำแผนงานปฏิบัติการตรวจสอบ บำรุงอาคารและอุปกรณ์ของอาคาร ให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษา ระบุปัญหาต่างๆ และการบันทึกข้อมูลในการตรวจอาคาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างมีความแข็งแรง และทุกระบบสามารถทำงานได้ตามปกติ  เตรียมความพร้อมสำหรับรับมือหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้า หลังเหตุแผ่นดินไหวสงบ ทางพลัสฯ ในเบื้องต้นมีการให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลอาคาร ทำสำรวจความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น  มีการตรวจสอบลิฟต์โดยสาร ถึงระบบการทำงานขึ้น-ลงจากล่างสุดถึงบนสุด ว่ามีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบในช่องท่อน้ำแนวดิ่งเพื่อตรวจว่ามีท่อแตกรั่วซึมหรือไม่  พื้นที่เก็บน้ำประปา ทั้งระหว่างอาคาร ดาดฟ้า และใต้ดิน ห้องเครื่องไฟฟ้าสายไฟฟ้า  ตรวจว่ามีการลัดวงจร มีกลิ่นไหม้ มีความร้อน หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ กายภาพอาคารทั่วไป   ตรวจสอบการร่วงหล่นของสิ่งของรอบอาคารเพื่อตรวจสอบว่าของที่ยึดกับตัว อาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร มีการหลุดร่วงหรือไม่ นอกจากพลัสฯจะทำการตรวจสอบกายภาพและระบบโดยรวมทั้งหมดของอาคารแล้ว  ยังมีการทำรายงานให้ลูกบ้านทราบถึงผลการตรวจสอบ  และอัพเดตสถานการณ์ข่าวสารแผ่นดินไหวแบบใกล้ชิดและทำการประชาสัมพันธ์แนวการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้กับลูกบ้าน  ด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวมักเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้อาคารและประชาชนโดยรอบอาคารเป็นสิ่งสำคัญ  เราสามารถเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์อย่างถูกต้องได้ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต

ความคิดเห็น