วิธีเลือกยาทาแผลสด ใช้ถูกหลัก ป้องกันการติดเชื้อ

วิธีเลือกยาทาแผลสด ใช้ถูกหลัก ป้องกันการติดเชื้อ

อุบัติเหตุเกิดได้ทุกเมื่อ ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ ในบ้านอย่างมีดบาด น้ำร้อนลวก ไปจนถึงอุบัติเหตุนอกบ้าน เช่น รองเท้าพลิก สะดุดตกทางเท้า รถมอเตอร์ไซค์เฉี่ยว ยาทาแผลสดป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นหนึ่งในยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านต้องมี และยิ่งเราเลือกใช้ยาทาแผลให้เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อบริเวณแผลด้วย

แผลสดต่างจากแผลประเภทอื่นอย่างไร?

มองผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่หากเรารู้จักประเภทของแผลและสามารถรักษาได้อย่างถูกวิธี ก็ช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นและทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น โดยเราสามารถใช้หลักการในแบ่งประเภทของแผลได้ง่าย ๆ ดังนี้

1. แบ่งตามความสะอาดของแผล

● แผลสะอาด ไม่มีการติดเชื้อ เช่น แผลมีดบาด แผลผ่าตัด

● แผลสกปรก มีอาการแผลเปิด ปวด บวม แดง มีเลือดหรือน้ำหนองบริเวณปากแผล มีโอกาสติดเชื้อและเป็นบาดทะยักสูง

2. แบ่งตามระยะเวลาการเกิดแผล

● แผลสด หรือแผลเปียก เป็นแผลที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ควรรีบใช้ยาทาแผลสดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

● แผลเรื้อรัง เป็นแผลที่เกิดจากการติดเชื้อ เนื้อเยื่อถูกทำลายจนกลายเป็นเนื้อตาย เป็นหนอง เช่น แผลกดทับ แผลจากการฉายรังสี

ยาทาแผลสดป้องกันการติดเชื้อ ควรเลือกแบบไหน?

เมื่อแผลมีหลายประเภท ยาทาแผลก็ควรต้องมีหลายประเภทด้วยเช่นกัน หากอยากซื้อยาทาแผลสดป้องกันการติดเชื้อติดตู้ยาที่บ้านไว้ วันนี้เรามีคำแนะนำวิธีการเลือกยาใส่แผลสดมาฝากกัน

ยาใส่แผลชนิดน้ำ

1. ทิงเจอร์ไทเมอโรซอล มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เหมาะจะใช้กับแผลสด แต่ไม่ควรใช้กับผิวเด็กหรือบริเวณผิวบอบบาง

2. ยาแดงหรือ Mercurochrome เหมาะกับแผลถลอกเล็กน้อย เพราะยาจะทำให้แผลด้านบนแห้ง แต่ถ้าใช้กับแผลที่ค่อนข้างลึกจะทำให้แผลหายช้า และมีส่วนผสมของปรอท หากใช้บ่อย ๆ อาจทำให้เกิดพิษจากปรอทได้

ยาใส่แผลชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง

1. Gentamicin เป็นยาทาแผลที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้ได้ทั้งกับแผลสดและแผลเปื่อย

2. Oxytetracycline ใช้ได้ดีทั้งกับแผลสด แผลเปื่อย แผลมีหนอง และแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกฤทธิ์รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย

ขั้นตอนการทำแผลที่ถูกต้องและข้อควรทำ

1. ใช้ยาล้างแผลหรือแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดรอบแผล โดยวนจากขอบแผลด้านในออกมาด้านนอกประมาณ 2-3 นิ้ว ไม่เช็ดวนซ้ำ ไม่เช็ดบนแผลโดยตรง

2. ใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ดซ้ำ วนจากด้านในออกด้านนอกเช่นกันจนแผลสะอาด

3. ใส่ยาทาแผลสดป้องกันการติดเชื้อ ช่วยให้แผลแห้งเร็ว และไม่เป็นแผลเป็น

4. ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลและยึดด้วยเทปตามแนวขวางของลำตัว

5. หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ และเกาแผล เพราะจะทำให้แผลเปิดและทำให้แบคทีเรียเข้าสู่แผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แผลหายช้า และเป็นแผลเป็นได้

ความคิดเห็น