ระบบขนส่งแห่งอนาคต รถยนต์วิ่ง 1.2 ชั่วโมง 'Hyperloop' ใช้เพียง 12 นาที (และนี่ยังแรงได้อีก)

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาแบบก้าวกระโดด ระบบการขนส่งอย่างรถไฟฟ้า หรือแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เริ่มกลายเป็นสิ่งล้าหลัง เพราะล่าสุดมีระบบที่มีความรวดเร็วกว่า และดีกว่า จากการเดินทางข้ามเมืองที่เคยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง ลดเหลือเพียง 12 นาที สิ่งนี้คือความสามารถของ ‘Hyperloop’ ระบบการเดินทางและขนส่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกในขณะนี้


 

การเชื่อมต่อ การเดินทางและการขนส่งที่รวดเร็ว เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญของประเทศ การมีระบบคมนาคม การขนส่งมวลชนที่ดี จึงเป็นหนึ่งในเครื่องแสดงถึงความเจริญของประเทศนั้นๆ เหมือนอย่างอเมริกาที่เคยพัฒนาระบบรางเชื่อมโยงภายในประเทศ จนเป็นรากฐานให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา ซึ่งหากให้เรานึกถึงระบบราง เราก็คงจะเห็นภาพของรถไฟเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดา ดีขึ้นหน่อยก็เป็นระบบรถไฟฟ้า หรือดีกว่านั้นก็รถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ใครจะรู้ว่าปัจจุบัน ได้มีเทคโนโลยีใหม่อย่าง ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเป็นรถที่ไม่ได้วิ่งบนถนนหรือราง แต่วิ่งในท่อส่งสูญญากาศ ไร้แรงเสียดทาน ยิงตรงๆทางจุดเริ่มต้นไปจุดปลายทาง ทำให้ตัวรถหรือยานสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

 

 

ปี 2013 อเมริกา จึงริเริ่มเดินหน้าโครงการระบบขนส่งแบบ ไฮเปอร์ลูป(Hyperloop) วางแผนจะเชื่อมเมืองบอสตันไปถึงใจกลางนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยอาศัยความร่วมมือกับ Elon Musk (อีลอน มัสก์) ประธานผู้ก่อตั้งบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของโลก อย่าง Tesla และ SpaceX อดีตที่ปรึกษาของรัฐบาล ซึ่งเขานิยามระบบ Hyperloop ว่าเป็น “การเดินทางในโหมดที่ 5 (Fifth Mode)” หรือระบบการเดินทางทีเหนือกว่า เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และเรือ Hyperloop ขับเคลื่อนและเร่งความเร็วด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า(Electromagnetic Propulsion System) วิ่งตรงผ่านในท่อส่งสูญญากาศที่ปราศจากแรงเสียดทาน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึงเกือบ 300 เมตร/วินาที หรือเร่งความเร็วได้ถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบกับเครื่องบินที่ได้เพียง 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากเร็วแล้วยังประหยัดเพราะ Hyperloop นั้นใช้พลังงานสะอาดจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าโซล่าเซลล์ จึงนับได้ว่า Hyperloop เป็นระบบขนส่งแห่งความหวังของเมืองใหญ่ ที่รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และราคาไม่แพง

 

 

ปี 2014 ได้มีการก่อตั้ง บริษัท Hyperloop One ขึ้นมา พอปลายปี 2015 ก็ได้เริ่มการจัดตั้งพื้นที่ทดลองระบบ Hyperloop บนพื้นที่ประมาณ 50 เอเคอร์ ในลาส เวกัส และในที่สุดกลางปี 2017 ความหวังก็เป็นจริง เมื่อสามารถประสบความสำเร็จในการวิ่งจริงครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้นกลางปี 2016 Hyperloop One กับ The Dubai Roads and Transport Authority หรือ RTA หน่วยงานดูแลคมนาคมของดูไบ ก็ได้ไปจับมือร่วมกันลงทุนในโครงการ Dubai Future Accelerators ทดลองใช้งานจริง Hyperloop ในเส้นเชื่อมเมืองดูไบกับอาบูดาบีไว้อีกด้วย ซึ่งผลจากการทดลองทำให้ การเดินทางจากดูไบไปสู่เมืองหลวงอย่างอาบูดาบีที่เคยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง สามารถลดเวลาลงได้เหลือเพียง 12 นาที

 

ปัจจุบันโครงการ Hyperloop ที่ดูไบ ได้กำหนดการเปิดใช้งานจริงเฟสแรกแล้วในปี 2020 – 2021 รวมถึงยังมีแผนขยายเส้นทางอีกหลายสาย และยังเตรียมแผนสร้างเส้นทางในพื้นที่ประเทศอื่นๆอีกด้วย

แม้ Hyperloop จะกำลังแพร่หลายมากในชาติตะวันตก แต่ฝั่งตะวันออกอย่างจีนไม่น้อยหน้า เพราะกำลังวางแผนสร้างรถไฟ MagLev (Magnetic Levitation ระบบคมนาคมที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการขับเคลื่อนโดยปราศจากล้อ) ที่คาดว่าจะสามารถทำ ความเร็วได้ถึง 2,485 ไมล์ต่ชั่วโมง (หรือ ราว 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นั่นคือมีความเร็วสูงกว่าความเร็วเสียงถึงประมาณ 3.26 เท่า และถูกเรียกว่า “รถไฟบิน (Flying Train)” โดยมีบริษัท China Aerospace Science and Industry Corp. (CASIC – บริษัทการบินอวกาศและอุตสาหกรรมจีน) และหัวหน้าวิศวกร Mao Kai เป็นผู้ดูแล

 

โดยภาพรวมแล้ว เราก็คงต้องติดตามการพัฒนากันต่อไป สำหรับเทคโนโลยีต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆวัน ให้เพิ่มพูนความรู้ เปิดโลกทัศเอาไว้ล่วงหน้า บ้านเราในตอนนี้ก็ได้แค่รอรถไฟฟ้าให้ครบทุกสาย และรอรถไฟความเร็วสูงในอนาคต หวังว่าคงอีกไม่นานเกินรอ ส่วนจะหวังระบบอย่าง Hyperloop คงมีแต่ในเมืองใหญ่ๆซึ่งยังห่างไกลจากบ้านเรา เพราะประเทศไทยเรายังต้องพัฒนาอีกหลายอย่าง ก็เอาใจช่วยกันต่อไปครับ

 

ขอบคุณข้อมูล : เจาะเทรนด์โลก 2018 โดย TCDC , THESTANDARD , Dubai Diary



 

 

ความคิดเห็น