9 จุดควรติดตั้ง "หลังคาสกายไลท์" เพิ่มความสว่างให้กับบ้านด้วยแสงธรรมชาติข้อดีเพียบ

แสงใดเล่า จะสู้แสงจากธรรมชาติได้ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการสร้างบ้านโดยออกแบบให้มีช่องให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าไฟในช่วงเวลากลางวัน แถมยังทำให้บ้านสว่างขึ้นไม่มืดทึบชวนดูอึดอัดอีกด้วย 

ยิ่งในสมัยนี้นิยมทาสีบ้านสไตล์ลอฟท์หรือปูนเปลือยกันเยอะ นั่นจะยิ่งทำให้บ้านดูทึบ ดังนั้นการสร้างช่องแสงให้กับบ้านนั้นจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้บ้านมีแสงสว่างเข้าบ้านบ้าง โดยช่องแสงที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจะเป็น ประตู หน้าต่าง ผนังติดกระจก แต่ตอนนี้ คบคิดมีรูปแบบใหม่จากตะวันตกมาช่วยเพิ่มแสงธรรมชาติให้กับบ้าน โดยเป็นข้างบนหลังคา หรือผนังแล้วใส่วัสดุโปร่งแสง อาทิ กระจกเทมเปอร์หรือลามิเนต เพื่อให้แสงผ่านได้ เรียกว่า หลังคาสกายไลท์ (Skylight) ซึ่งจะรับแสงสว่างส่องตรงลงมาจากด้านบนเข้าสู่ตัวบ้านตามจุดต่าง ๆ

 

การทำหลังคาโปร่งแสงแบบนี้มีผลดีต่อบ้านไม่น้อย ไม่ว่าจะช่วยเพิ่มแสงสว่างให้บริเวณบ้าน ลดการใช้ไฟส่องสว่าง ช่วยระบายอากาศในบ้านและรับแสงเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยปกติสกายไลท์จะมีแบบที่เปิดออกได้ และทำให้บ้านดูโปร่งและกว้างขึ้น การทำช่องแสงขนาดใหญ่จะทำให้รู้สึกถึงการเป็นพื้นที่เปิด นอกจากนี้เรายังจะแนะนะให้ด้วยว่าควรติดตั้งช่องแสงในบริเวณไหนบ้าง

1.ทางเดินในบ้าน จุดแรก คือทางเดินในบ้านที่เชื่อมต่อจากประตูหน้าบ้าน หรือโถงภายในบางหลังจะรู้สึกว่าแคบและมืด ซึ่งอาจจะทำให้มองเห็นไม่ถนัด ยิ่งบ้านที่มีพื้นที่ต่างระดับยิ่งต้องระวัง การเติมแสงเข้าไปในจุดนี้จะช่วยให้บ้านดูสว่างขึ้น การใช้งานในบ้านปลอดภัยมากขึ้น

 

2. ห้องนั่งเล่นหรือพื้นที่ส่วนรวมในบ้าน  ห้องนั่งเล่นจะเป็นสถานที่ที่สมาชิกในบ้านแวะเวียนเข้ามาใช้งานค่อนข้างมาก การจัดให้ส่วนนี้ได้รับแสงที่พอเหมาะ ทำให้ทั่วทั้งบริเวณดูโล่ง เพิ่มความรู้สึกสบายตา แต่การติดช่องแสงบริเวณนี้ควรจะดูปริมาณของแสงและทิศทางที่แสงตกกระทบด้วย เพราะถ้าแสงเข้มและช่องแสงใหญ่เกินไป จะทำให้รู้สึกร้อนและแสบตาได้

 

3. โถงเหนือบันได  บันไดที่ต่อเชื่อมระหว่างชั้นล่างกับชั้นบน บางบ้านจะเป็นทางเดินแคบ ๆ มีผนังกั้นปิดกันตกเอาไว้ด้านข้าง ทำให้บริเวณนี้มืดจนต้องเพิ่มแสงไฟเข้าไปในเพื่อความปลอดภัยขณะเดินขึ้นลง แต่ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อเจาะช่องแสงให้โปร่งสว่างก็ช่วยเพิ่มสะดวกในการใช้งานได้มาก ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แถมยังลดการใช้ไฟฟ้าในจุดนี้ได้ด้วย

 

4. มุมทำงาน   ที่บ้านไหนจัดให้มีมุมทำงานส่วนตัวหรือโฮมออฟฟิศอยู่ข้างใน แสงสว่างที่เพียงพอสำหรับการทำงานหรืออ่านหนังสือมีความจำเป็นอย่างมาก การเลือกมุมติดตั้งช่องแสงสกายไลท์ในจุดที่ผู้ใช้งานต้องการจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นมีมากขึ้น และเอื้อต่อการทำงานในบ้านอย่างมีความสุข

 

5. ห้องครัว ครัวเป็นอีกหนึ่งจุดหลัก ๆ ของบ้านที่ต้องการแสง เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ขจัดความชื้นที่เกิดขึ้นระหว่างการเตรียมอาหารและการซักล้าง และเพิ่มความสว่างในห้องเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ลองทำช่องแสงสกายไลท์บริเวณเพดานในมุมที่ต้องการ เช่น เคาน์เตอร์เตรียมอาหาร มุมล้างผัก ก็จะช่วยให้ห้องครัวดูสว่างและไม่ทึบ

 

6. ห้องทานอาหาร ในระหว่างมื้ออาหารถ้านั่งอยู่ท่ามกลางมุมมืดคงรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ใช่ไหมครับ คงจะดีกว่าถ้าเราสร้างบรรยากาศดี ๆ ในขณะทานอาหาร ให้รู้สึกได้ถึงแสงสว่างที่อบอุ่นและโรแมนติก ด้วยช่องแสงเล็ก ๆ ที่เจาะเอาไว้ให้แสงแดดจากธรรมชาติเข้ามาภายในพื้นที่

 

7. ห้องนอน ห้องนอนที่ดีต้องมีแสงสว่างส่องถึงและเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นห้องเด็กหรือผู้ใหญ่ และควรนำแผ่นกรองแสงที่ช่องเอาไว้ด้วยเอาไว้ด้วยเพื่อลดปริมาณของแสงให้อยู่ในระดับที่ต้องการ การติดช่องแสงบนเพดานห้องแบบนี้ นอกจากจะได้ประโยชน์จากแสงแล้ว ยังช่วยเปิดมุมมองให้ห้องเห็นวิวท้องฟ้าสวย ๆ ได้ด้วย

 

8.ห้องน้ำ ห้องน้ำเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่ต้องการแสงเข้าไปช่วยลดความอับชื้น ฆ่าเชื้อโรคที่หมักหมมภายใน ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้แสงแดดเข้าไปในห้องจะช่วยทำให้ภายในถูกสุขลักษณะ และเพิ่มความสุขในการใช้งานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจเรื่องความปลอดภัยเอาไว้ก่อน ด้วยการตรวจสอบจุดที่จะติดตั้งให้ดีว่าปลอดจากสายตาของบ้านโดยรอบ หรือติดตั้งบานติดเอาไว้อีกชั้นก็จะดีมาก

 

9. ห้องซักรีดหรือห้องใช้งานอเนกประสงค์ บ้านยุคใหม่ส่วนใหญ่ก็มีการจัดการพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ที่ทำเป็นห้องซักรีด-ตากผ้า ซึ่งจริง ๆ แล้วเหมาะกับบ้านเราที่มีฝนตกชุกและแดดแรง ในหน้าฝนที่บางบ้านไม่มีเครื่องอบผ้าและต้องตากผ้าไว้ในที่ร่มทำให้เสื้อผ้าเหม็นอับ หากเราต้องการตากผ้าในที่ร่มแบบไม่กลัวฝน ต้องลองติดตั้งหลังคาสกายไลท์เอาไว้ใช้งานกันดู

 

จะเห็นได้ว่าจะเป็นจุดหลักๆเลยที่ต้องการความสว่างมากในการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามช่องแสงจะเป็นแหล่งแสงธรรมชาติที่จะเข้ามาในบ้านได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น นอกจากนี้ตำแหน่งการวางของสกายไลท์ต้องคำนึงถึงทิศทางของแสง และขนาดของบานควรเหมาะสมกับพื้นที่ เพราะถ้าแสงมากไปห้องก็จะร้อนมาก และดูแลการติดตั้งไม่ให้เกิดรอยรั่วบนหลังคาหรือผนังในจุดที่ติดตั้ง

 

 

ที่มา : banidea.com



 

ความคิดเห็น