5 ข้อน่ารู้ ที่ทำให้เข้าใจ Cashless Society สังคมไร้เงินสด มากขึ้น

 

ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางรองรับความต้องการของมนุษย์ สังคมที่ใช้เงินสดเพื่อแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินค้าและบริการกำลังจะหมดไป จากสังคมเงินสด กลายเป็นสังคมบัตรเครดิต บัตรเดบิต และท้ายที่สุดสังคมไร้เงินสดกำลังเคลื่อนที่เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกอย่างจริงจัง

วันนี้เรามาดู 5 ข้อน่ารู้ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจ Cashless Society มากยิ่งขึ้น

1. สังคมไร้เงินสดคืออะไร

สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless society เป็นสังคมที่ปราศจากเงินสดหรือไม่นิยมถือเงินสด อาจชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทน ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อชำระเงินได้โดยไม่ต้องพกเงินสด

 

 

2. ยุคสังคมไร้เงินสดที่กำลังเติบโตในไทย

สำหรับประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Cashless society โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังได้มีการมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดัน Nation e-Payment ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยบริการอย่างพร้อมเพย์ หรือ PromtPay เพิ่มความสะดวกในการรับเงินและโอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า แถมยังง่ายกว่า เพียงแค่ใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น

 

นอกจากพร้อมเพย์แล้ว ยังมีการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่อลดต้นทุน ระยะเวลา และขั้นตอนในการจัดทำเอกสารและการชำระภาษีอีกด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ QR Code Payment จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้สังคมไร้เงินสดเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าร้านค้าหรือร้านอาหาร เพียงแค่เปิด Moblie Application แล้วสแกน QR Payment เท่านี้ก็จบการชำระเงินแล้ว สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอและไม่เสียเวลา ซึ่งความน่าสนใจของ QR Payment คือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ทุกธนาคารสามารถใช้ QR Code อันเดียวแต่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้หมด

 

 

3. ต่างประเทศกำลังจะเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ

ในบางประเทศ การชำระเงินด้วยระบบออนไลน์หรือบัตร กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไปแล้ว อย่างสวีเดน เบลเยียม จีน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา เกาหลีใต้ เคนย่าและเดนมาร์ก

 

สวีเดน ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้สำเร็จ เพราะคนในสวีเดนมีการใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking และบัตรเดบิตเป็นหลัก เนื่องจากร้านค้า ร้านอาหาร รถสาธารณะหรือแม้กระทั่งโบสถ์ ยังมีการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต

 

เบลเยียมเองก็มีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงถึง 93% ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินภายในประเทศให้ประชาชนหันมาใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือเพื่อชำระเงิน

 

จีน เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลสูงมาก โดยทำธุรกรรมผ่าน Mobile Payment เป็นมูลค่าถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมี 2 แอปพลิเคชันหลักที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Alipay และ Wechat pay ซึ่งชาวจีนมีความสะดวกสบายอย่างมาก เมื่อสามารถชำระเงินออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านอาหารข้างถนน ให้ทิปเด็กเสิร์ฟ ใส่ซองงานศพ หรือแม้กระทั่งขอทานเองก็ยังมี QR Code

 

 

4. ข้อดีของ Cashless Society

ลดการใช้เงินสดและเพิ่มการใช้ e-Payment ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเองก็เก็บภาษีได้ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เพราะ e-Payment สามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ จุดเด่นที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ สามารถใช้แอปพลิเคชันของธนาคารใดก็ได้ในการรับเงินและจ่ายเงิน และมีการชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง ไม่จำกัดแค่พร้อมเพย์เท่านั้น แต่ยังเลือกว่าจะตัดจากบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ใช่แค่ผู้ขายที่สะดวกสบาย คนซื้อเองก็เช่นกัน

 

 

5. ข้อเสียของ Cashless Society

มีข้อดีย่อมมีข้อเสีย ซึ่งข้อเสียนี้เองที่ทำให้ผู้ใช้บริการยังคงลังเลใน Cashless Society อยู่ ข้อเสียคงหนีไม่พ้นการสูญเสียความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพทางเศรษฐกิจในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของธนาคาร ผู้ประกอบการ และรัฐบาล รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยของการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากการนำข้อมูลทางการเงินทุกอย่างเข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลสามารถทำได้ง่าย จากความสะดวกสบายต่าง ๆ ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการมีความฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น

 

 

ถึงแม้ว่าสังคมไร้เงินสดจะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่หากมองในแง่บวกแล้ว การย้ายจากเงินสดมาอยู่ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนคือสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้อย่างมาก ทั้งในแง่ของระยะเวลา ความคล่องตัว ความสะดวกสบาย และความรวดเร็ว ส่วนความปลอดภัยย่อมต้องมีการพัฒนาให้รัดกุมและรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ในอนาคตประเทศไทยเองก็อาจเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าประชาชนนั้นจะพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

ที่มา : scbeic.com, kapook.combrandinside.asiaceoblog.co

 

 

 

ความคิดเห็น