โปรดทราบ! คุณกำลังอ่านเนื้อหาจากเว็บไซต์เก่า ลิงก์หรือการใช้งานอื่นๆจะไม่สามารถใช้งานได้
“คมนาคม” ดันโครงข่ายระบบรางในเมืองกรุง จัดครบเซ็ต ‘รถไฟฟ้า 3 เส้น-แอร์พอร์ตลิงก์-ทางคู่’
ลงเมื่อ 20-06-2016 22:42:20
โดยล่าสุดมีความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า ในส่วนที่ขาดช่วง หรือ “มิสซิ่งลิงค์” ที่ประกอบไปด้วย สายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท , แอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ (วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท) และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท) รวมมูลค่าทั้ง 3 โครงการกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดโครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน (มิสซิ่งลิงค์) ซึ่งเป็นโครงข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องความชัดเจนการก่อสร้างในช่วงพญาไท-บางซื่อ เนื่องจากมีการก่อสร้างรูปแบบการใช้ทางร่วมกันด้วย โดยจะมีการเคลียร์ความชัดเจนเรื่องแผนการก่อสร้างช่วงดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะนำเสนอ ครม.พิจารณา โดยช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงและบางซื่อ-หัวหมาก จะเชื่อมต่อโซนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะก่อสร้างในเส้นทางเดียวกันที่เรียกว่า “คลองแห้ง” ในช่วงพื้นที่สถานีรถไฟสามเสน ซึ่งขณะนี้โครงการสายสีแดง (มิสซิ่งลิงค์) มีความพร้อมแล้วรอเพียงโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง พร้อมเท่านั้นก็จะนำเสนอ ครม.พิจารณาไปพร้อมกัน
“การก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ จะเสนอให้ดำเนินการไปถึงดอนเมือง แต่สามารถแบ่งเฟสการก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อนได้ ล่าสุด ร.ฟ.ท.จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอ สศช.ไปแล้ว ทั้งนี้ได้มีการแบ่งพื้นที่ช่วงหน้าสนามบินดอนเมืองเอาไว้แล้วว่า จะมีการใช้โครงสร้างร่วมกันอย่างไรบ้าง จึงต้องมีการนำเสนอตลอดทั้งสาย ส่วนการก่อสร้างจะแบ่งเฟสดำเนินการได้ โดยเส้นทางมิสซิ่งลิงค์และแอร์พอร์ตลิงค์นั้น การประกวดราคาจะดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ โดยได้สั่งให้จัดทำทีโออาร์พร้อมกัน”
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง ที่จะเร่งผลักดันต่อเนื่องกันไป ขณะที่รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้ง 3 เส้นทางในสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย ตามแผนเดิมจะนำเสนอ ครม.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หากรวมรถไฟทางคู่เข้าไปด้วย ก็จะสามารถนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติได้ทั้ง 6 โครงการ โดยจะสามารถจัดการประกวดราคาได้ภายในปลายปีนี้และเริ่มงานก่อสร้างได้ในปลายปี 2560 ซึ่งหากเชื่อมโยง “ระบบราง” ในทุกโครงการที่รัฐกำลังเดินหน้าทำ จะใช้เม็ดเงินราวๆ 2.6 แสนล้านบาท
ที่มา 1morenews
วันที่ 20 มิถุนายน 2559

สมัครสมาชิก

อ่านเงื่อนไขการให้บริการ Terms & Conditions และ Privacy Policy
ยอมรับ และลงทะเบียนเพื่อสมัคร
ยอมรับ และสมัครง่าย ๆ ด้วย facebook