โปรดทราบ! คุณกำลังอ่านเนื้อหาจากเว็บไซต์เก่า ลิงก์หรือการใช้งานอื่นๆจะไม่สามารถใช้งานได้
เตรียมสร้าง 3 สถานีท่าเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า 3 สาย
ลงเมื่อ 20-10-2014 22:40:28

นับจากนี้ถึงปี 2558 การให้บริการเรือโดยสารจะสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อการเชื่อมโยง 3 โหมด "บก-ราง-น้ำ" จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลังรถไฟฟ้า 3 สายทาง ทั้งสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) และส่วนต่อขยายบีทีเอส (ตากสิน-บางหว้า) เชื่อมโยงการเดินทางจากชานเมืองย่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานีเข้าเมืองรวด เร็วมากขึ้น
"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ปี 2558-2559 กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญการพัฒนาท่าเรือให้เชื่อมโยงการเดินทางกับรถเมล์ และรถไฟฟ้า มี 4 แห่งจะเชื่อมกับรถไฟฟ้า ได้แก่
1.ท่าเรือปากเกร็ด เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) โดยทางเทศบาลนครปากเกร็ดจะเป็นผู้ดำเนินการ จะพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางกว่า 400 เมตร มีทั้งท่าเรือและลานกิจกรรม
2.ท่าเรือพระนั่ง เกล้า เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้ดำเนินการ
3.ท่าเรือบางโพ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ- ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค)
และ 4.ท่าเรือสาทร เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีตากสิน
นายอาคมกล่าวอีกว่า เพื่อให้การบริการสะดวกมากขึ้น กรมเจ้าท่ามีแผนจะพัฒนาท่าเรือ 19 แห่งให้ทันสมัย ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน จะใช้เงินลงทุน 450 ล้านบาท จะนำร่อง 9 แห่งในปี 2558-2559 เงินลงทุน 70 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือนนทบุรี พระราม 7 บางโพ เทเวศร์ พระปิ่นเกล้า พรานนก ราชวงศ์ สี่พระยา และสาทร จากนั้นปี 2560-2561 จะพัฒนาอีก 10 แห่ง ได้แก่ ปากเกร็ด พระนั่งเกล้า พระราม 5 เกียกกาย พายัพ กรุงธน (ซังฮี้) ท่าพระอาทิตย์ ท่าช้าง ท่าเตียน และท่าราชินี
"ที่จะเป็นโมเดลนำร่องก่อน คือ ท่านนทบุรี พระปิ่นเกล้า และสาทร เพราะเป็นท่าที่ผู้ใช้บริการมาก แนวทางพัฒนารัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและให้เอกชนมาพัฒนาระบบ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยจะได้สิทธิ์การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ระยะยาว เช่น 10 ปี 20 ปี เพื่อพัฒนาท่าเรือให้เป็นเหมือนสนามบินหรือสถานีรถไฟฟ้า เพราะต่อไปจะมีระบบตั๋วร่วมมาเชื่อมการเดินทางได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือ"
ด้าน "จุฬา สุขมานพ" อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า ท่าเรือที่จะพัฒนามี 3 ขนาด ได้แก่ ไซซ์ L พื้นที่ 250 ตารางเมตรขึ้นไป รองรับได้ 50 คน ไซซ์ M พื้นที่ 150-250 ตารางเมตร รองรับได้ 35-50 คนและไซซ์ S พื้นที่ต่ำกว่า 150 ตารางเมตร รองรับได้น้อยกว่า 35 คน
สำหรับ แนวทางการพัฒนาจะให้เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการเรือเข้ามาร่วมพัฒนา เช่น ระบบเทคโนโลยี ระบบตั๋ว และจะให้สิทธิ์การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ประมาณ 30% ของพื้นที่ท่าเรือแต่ละสถานี ซึ่งในเดือนเมษายน 2558 นี้จะแล้วเสร็จ สำหรับโครงการนำร่องมีท่านนทบุรีและพระนั่งเกล้า ซึ่งทางเรือด่วนเจ้าพระยาจะดำเนินการให้
ขณะที่ "ปริญญา รักวาทิน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัดกล่าวว่า บริษัทจะยื่นข้อเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาการพัฒนาท่าเรือ 19-22 แห่ง จะใช้เงินลงทุนประมาณ 80 กว่าล้านบาท และขอสัมปทานการพัฒนา 20 ปี
ทั้ง นี้ บริษัทจะเร่งพัฒนาท่าเรือนำร่อง 2 แห่ง ที่ท่านนทบุรีและท่าปิ่นเกล้า เพื่อรองรับกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงินที่จะแล้วเสร็จในปี 2558-2560 โดยบริษัทจะเข้าไปพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้บริเวณท่าเรือ ส่วนการปรับกายภาพท่าเรือจะเป็นการลงทุนของกรมเจ้าท่า
ออกแรงแข็งขันกันขนาดนี้ เป้าหมายที่ "รัฐบาลประยุทธ์" จะดึงคนหันมาใช้บริการทางน้ำมากขึ้น ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 20 ต.ค. 2557

สมัครสมาชิก

อ่านเงื่อนไขการให้บริการ Terms & Conditions และ Privacy Policy
ยอมรับ และลงทะเบียนเพื่อสมัคร
ยอมรับ และสมัครง่าย ๆ ด้วย facebook